แหล่งรวมความรู้และการรักษาโรคทรวงอก

SIRA DOCTOR LUNG (โดย นายแพทย์ศิระ เลาหทัย)

แหล่งรวมความรู้และการรักษาโรคทรวงอก

SIRA DOCTOR LUNG

ส่องกล้องหลอดลม ทางเลือกการตรวจชิ้นเนื้อปอด

 02/02/2021 |  1543 Views

ในอดีตการพิสูจน์หาสาเหตุของก้อนในปอด จะนิยมใช้วิธีการผ่าตัดเพื่อเอาก้อนเนื้อออกมา ข้อดีก็คือแพทย์จะสามารถให้การวินิจฉัยและรักษาได้ในการผ่าตัดครั้งเดียว แต่การผ่าตัดในลักษณะนี้เป็นหัตถการใหญ่ที่ต้องดมยาสลบ ทำให้ผู้ป่วยต้องพักฟื้นนาน และอาจต้องเสียเนื้อปอดไปโดยเปล่าประโยชน์

ปัจจุบันจึงมีการพัฒนาทั้งวิธีการและเครื่องมือให้สามารถทราบถึงสาเหตุของก้อนในปอดได้โดยไม่ต้องผ่าตัดใหญ่ แต่ใช้การตรวจด้วยการส่องกล้องทางเดินหายใจ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยไม่ต้องพักฟื้นนาน และลดอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการผ่าตัด เป็นหัตถการที่ให้ข้อวินิจฉัยถูกต้องแม่นยำ และปลอดภัยสำหรับผู้ป่วยมากยิ่งขึ้น

ขั้นตอนการส่องกล้องหลอดลม

การส่องกล้องส่วนใหญ่จะทำในท่านอนราบ ก่อนการส่องกล้องตรวจหลอดลม ผู้ป่วยจะได้รับการพ่นยาชาบริเวณจมูกและลำคอ จากนั้นแพทย์จะใส่กล้องสำหรับการตรวจเข้าทางจมูกข้างหนึ่งหรือทางปาก ผ่านลำคอและกล่องเสียงเข้าไปยังหลอดลม ในขณะส่องกล้องผู้ป่วยอาจรู้สึกอึดอัดบ้าง และแพทย์จะพ่นยาชาผ่านทางกล้องเข้าไปในหลอดลมเป็นระยะ ซึ่งอาจทำให้มีอาการไอหรือสำลักเล็กน้อย โดยผู้ป่วยสามารถหายใจได้ตามปกติ

ระหว่างการส่องกล้องผู้ป่วยจะได้รับการวัดความดันโลหิต ชีพจร และระดับออกซิเจนในเลือดตลอดเวลา เพื่อความปลอดภัย ในบางกรณีอาจจะมีการให้ยานอนหลับทางเส้นเลือดดำก่อนการส่องกล้องเพื่อช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย ซึ่งแพทย์จะทำการตัดตัวอย่างชิ้นเนื้อออกมาเล็กน้อย และส่งตรวจทางพยาธิวิทยาอย่างละเอียดว่าเป็นเนื้อชนิดใด เพื่อวางแผนในการรักษาอย่างตรงจุด

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น

หลังการส่องกล้องหลอดลมอาจจะมีอาการเจ็บคอ หรือเสมหะปนไอปนเลือดเล็กน้อย ซึ่งอาการเหล่านี้จะสามารถหายไปได้เอง แต่ในคนไข้บางรายก็อาจมีเลือดออกหลังทำการตัดชิ้นเนื้อ เกิดภาวะลมรั่วในช่องเยื่อหุ้มปอด มีภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำหรือภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้จะขึ้นอยู่กับอาการผู้ป่วยแต่ละราย โดยผู้ป่วยจะได้รับการตรวจสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดและนัดมาฟังผลการตรวจตามขั้นตอนต่อไป และหลังจากนั้นแพทย์จะนัดมาฟังผลการตรวจ และวางแผนการรักษาตามตามขั้นตอนต่อไป