แหล่งรวมความรู้และการรักษาโรคทรวงอก

SIRA DOCTOR LUNG (โดย นายแพทย์ศิระ เลาหทัย)

แหล่งรวมความรู้และการรักษาโรคทรวงอก

SIRA DOCTOR LUNG

คัดกรองความเสี่ยงมะเร็งปอด

 14/05/2021 |  651 Views

“เพราะสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญ ยิ่งตรวจพบได้เร็ว ยิ่งเพิ่มโอกาสการรอดชีวิต” นพ.ศิระ เลาหทัย  แพทย์ผู้เชี่ยวชาญศัลยศาสตร์ทรวงอกเฉพาะทางด้านผ่าตัดส่องกล้อง โรงพยาบาลวชิรพยาบาล กล่าวว่า โรคมะเร็งปอดยังคงเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญและเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของประชากรโลก  โดยตั้งแต่ปี ค.ศ. 1950  พบว่า มะเร็งปอดเป็นมะเร็งที่พบบ่อยมากที่สุดในโลกและจนกระทั่งในปีล่าสุดปี ค.ศ. 2015 อุบัติการณ์เสียชีวิตของมะเร็งปอดโรคเดียวนั้นคร่าชีวิตของผู้ป่วยมากกว่ามะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก และมะเร็งลำไส้ใหญ่รวมกัน โดยอุบัติการณ์การรอดชีวิตที่ 5 ปีของมะเร็งปอดอยู่แค่ 16.8 % เนื่องจากมักจะตรวจพบในมะเร็งปอดในระยะสุดท้าย

สาเหตุที่มะเร็งปอดยังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตเป็นอันดับหนึ่งนั้น นอกจากปัจจัยเสี่ยงของการก่อมะเร็ง เช่น สูบบุหรี่โดยตรงและทางอ้อม หรือการได้รับสารเคมีหนักจากการทำงานในโรงงาน  เช่น โครเมียม นิเกิล เอสเบสโตส (Asbestos) และอื่น ๆ อีกสาเหตุสำคัญ คือ ความสามารถในการคัดกรองโรคนี้ ผู้ป่วยหลายรายที่ตรวจสุขภาพเป็นประจำ แต่ไม่สามารถคัดกรองโรคมะเร็งในระยะต้น ๆ อาจเป็นเพราะการตรวจสุขภาพนั้นเป็นแบบกว้าง ซึ่งอาจไม่ละเอียดเพียงพอหรืออาจเกิดจากผู้ป่วยไปตรวจตอนที่มีอาการแล้ว เช่น ไอ หรือ เหนื่อย ซึ่งมักจะพบในโรคมะเร็งปอดระยะท้าย ๆ ทำให้โอกาสการรอดชีวิตค่อนข้างต่ำ

ดังนั้นในปีค.ศ. 2011 รายงานการวิจัยของสมาคมนานาชาติมะเร็งปอด ( international association for the study of lung cancer: IASLC) ได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างการทำเอ็กซเรย์ปกติ ( Chest x-ray) กับ เอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ ( Low dose Computed tomography chest screening: LDCT ) ในกลุ่มประชากรที่ความเสี่ยงพบว่าการทำเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (LDCT) สามารถพบมะเร็งปอดได้ดีกว่า การทำเอ็กซเรย์ปกติ ( rate ratio 1.13: 95% confidence interval, 1.03 to 1.23) และยังสามารถทำให้ลดอุบัติการณ์การเสียชีวิตจากมะเร็งปอดในกลุ่มคนที่มีความเสี่ยง ได้ถึง 20 เปอร์เซ็นต์

โดยข้อดีของการทำเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ ( Low dose Computed tomography chest screening: LDCT ) นั้นคือ 1.ปริมาณรังสีน้อยกว่าเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ปกติน้อยกว่าปกติ CT chest 5 เท่า (เท่ากับเอ็กซเรย์ปกติ 15 ใบ ) 2.ใช้เวลาทำน้อยกว่า 1 นาที 3.ไม่มีการฉีดสี 4.ไม่มีต้องตรวจค่าไต 5.ระดับรังสีจะลงมาเป็นปกติภายใน 6 เดือน โดยคำแนะนำของงานวิจัย คือ ในกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงควรทำเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ปอด (LDCT) เป็นประจำปี ๆ  ละ 1 ครั้ง จนถึง อายุ 79 ปีและการไม่แนะนำการทำเอ็กซเรย์ปอดปกติในการคัดกรองมะเร็งปอด

กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง High risk group มี 2 กลุ่ม ดังนี้ 1. กลุ่มความเสี่ยงสูงกลุ่มแรก  คือ อายุ 55-74 ปี กำลังสูบบุหรี่ หรือ เคยสูบบุหรี่ระยะเวลาเฉลี่ยมากกว่า 30 ปี และ มากกว่า 1 ซองต่อวัน หรือ 30 pack-year ยกตัวอย่างเช่น สูบบุหรี่มา 15 ปี เฉลี่ยวันละ 2 ซอง,  สูบบุหรี่มา 20 ปี เฉลี่ยวันละ ซองครึ่ง, สูบบุหรี่มา 30 ปี เฉลี่ยนวันละ 1 ซอง, หยุดสูบบุหรี่มาไม่เกิน 15 ปี

 2.กลุ่มความเสี่ยงสูงกลุ่มที่ 2 คือ อายุ มากกว่า 50 ปี กำลังสูบบุหรี่ หรือ เคยสูบบุหรี่ระยะเวลาเฉลี่ยมากกว่า 20 ปี และ มากกว่า 1 ซองต่อวัน หรือ 20 pack-year ยกตัวอย่าง เช่น สูบบุหรี่มา 10 ปี เฉลี่ยวันละ 2 ซองสูบบุหรี่มา 20 ปี เฉลี่ยวันละ 1 ซอง และมีความเสี่ยงอื่น ๆ เช่น มีประวัติมะเร็งในครอบครัวหรือได้รับสารเคมี เช่น โครเมียม นิเกิล เอสเบสโตส (Asbestos)  เป็นต้น

ข้อมูลอ้างอิง ( Reference )

  1. Cancer of the lung and bronchus (invasive): trends in SEER incidence and U.S. mortality using the Joinpoint Regression Program, 1975-2007 with up to four Joinpoints, 1992-2007 with up to two Joinpoints, both sexes by race/ethnicity.
  2. Jemal A, Center MM, DeSantis C, Ward EM. Global patterns of cancer incidence and mortality rates and trends. Cancer Epidemiol Biomarkers Prev2010;19:1893-1907
  3. The National Lung Screening Trial Research Team. The National Lung Screening Trial: overview and study design. Radiology2011;258:243-253
  4. The National Lung Screening Trial Research Team. Baseline characteristics of participants in the randomized National Lung Screening Trial. J Natl Cancer Inst2010;102:1771-1779
  5. National Lung Screening Trial Research Team, Aberle, D.R., Adams, A.M., Berg, C.D., Black, W.C., Clapp, J.D., Fagerstrom, R.M. et al. Reduced lung-cancer mortality with low-dose computed tomographic screening. N Engl J Med. 2011; 365: 395–409
  6. National Comprehensive Network NCCN Clinical Practice Guidelines in Oncology. Lung Cancer Screening Version 1.2017.
  7. Jacobson FL, Austin JHM, Field JK, Jett JR, Keshavjee S, MacMahon H, et al. Development of the American Association for Thoracic Surgery Guidelines for Low Dose CT scans to screen for lung cancer in North America. J Thorac Cardiovasc Surg.2012;144:25-32
  8. National Cancer Institute at the National Institutes of Health. Computed Tomography (CT): Questions and Answers. [July 20, 2012]