แหล่งรวมความรู้และการรักษาโรคทรวงอก

SIRA DOCTOR LUNG (โดย นายแพทย์ศิระ เลาหทัย)

แหล่งรวมความรู้และการรักษาโรคทรวงอก

SIRA DOCTOR LUNG

การผ่าตัดส่องกล้องโรคมะเร็งปอดกับกลุ่มคนสูงอายุ

 23/06/2021 |  2267 Views

โรคมะเร็งปอดเป็นโรคที่คร่าชีวิตในโลกมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ในกลุ่มมะเร็งทั้งหมดมาตั้งแต่อดีต เนื่องจาก ณ เวลาที่ค้นพบโรค ส่วนหนึ่งของผู้ป่วยจะอยู่ในระยะที่ 4 หรือระยะกระจายแล้ว ในปัจจุบันถึงแม้ว่าโรคมะเร็งปอดยังคงเป็นสาเหตุในการเสียชีวิตที่สูงที่สุดของมะเร็งโดยรวม

 

ปัจจุบัน ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น และ ผู้คนเริ่มดูแลเอาใจใส่ตัวเองมากขึ้น ร่วมทั้ง ระบบการวินิจฉัยที่ดีขึ้น ( Low dose CT chest screening ) ทำให้เราสามารถตรวจพบและวินิจฉัยมะเร็งปอดได้เร็วขึ้นโดยเฉพาะในระยะที่ 1 หรือ 2 ซึ่งคนไข้ในกลุ่มนี้เราสามารถได้รับการรักษาให้หายขาดด้วยการผ่าตัดส่องกล้องตัดปอดกลีบที่มีมะเร็งออกไปทั้งกลีบ (VATS Lobectomy)

 

ความกังวลเมื่อคนสูงอายุต้องผ่าตัดปอด

 

นอกจากนี้โอกาสการเกิดโรคมะเร็งมักพบในผู้ป่วยที่มีอายุมาก โดยเฉลี่ยคือ ผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 70  ปีในบางรายอาจเกิดในผู้ป่วยอายุมากกว่า 80 ปี ซึ่งความพิเศษในคนสูงอายุ คือ มักจะมีโรคประจำตัวร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง หรือ โรคหัวใจ และหลอดเลือดทางสมอง อีกอย่างหนึ่งคืออวัยวะภายในจะเริ่มมีการเสื่อม ไม่เหมือนคนวัยหนุ่มสาว ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาเหมือนสิ่งของที่มีการเสื่อมลง

 

หลักการสำคัญของการผ่าตัดในผู้ป่วยสูงอายุ

 

การผ่าตัดในกลุ่มนี้ นอกจากการผ่าตัดที่ต้องใช้ความแม่นยำและการดูแลที่ดีตั้งแต่ก่อนผ่าตัด ระหว่างการผ่าตัดและหลังการผ่าตัด

โดยหัวใจการรักษานั้น คือ การทำให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ฟื้นตัวให้เร็วที่สุด ไม่นอนโรงพยาบาลนาน เนื่องจาก การที่ผู้ป่วยสูงอายุต้องนอนบนเตียงนานๆ จะมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อน เช่น ปอดติดเชื้อ การติดเชื้อในท่อทางเดินปัสสาวะ นอกจากนี้จะต้องทำให้ผู้ป่วยเจ็บน้อยที่สุด โดยใช้ยาแก้ปวดน้อยที่สุด เพื่อลดผลข้างเคียงของยาแก้ปวดเช่น การกดกายหายใจ

ฉะนั้นการผ่าตัดโดยการส่องกล้องมักจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยสูงอายุ เพราะ เป็นการทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็วที่สุด และ เจ็บปวดน้อยที่สุด

 

ารผ่าตัดส่องกล้อง (VATS)

ในปัจจุบัน เราสามารถผ่าตัดปอดออกทั้งกลีบ (Lobectomy) หรือ ผ่าตัดน้อยกว่าทั้งกลีบ (Sublobar Resection) ด้วยการส่องกล้อง หรือ Video-Assisted Thoracic Surgery (VATS) โดยวิธีการผ่าตัดนั้นสามรถทำได้โดยการผ่าตัดแผลเดียว หรือเรียกว่า uniportal VATS surgery โดยตำแหน่งของแผลอยู่ข้างลำตัว ส่วนการผ่าตัดเปิดช่องอกแบบเดิม (Thoracotomy) เป็นการผ่าตัดขนาดใหญ่โดยใช้เครื่องขยายซี่โครง ขนาดแผล 15-20 เซนติเมตร

การผ่าตัดส่องกล้องนั้น จะสามารถช่วยลดความเจ็บปวดหลังผ่าตัด กลับไปทำงานได้เร็วขึ้น ลดอาการปวดร้าวหรือชาตามเส้นประสาท และ ลดระยะเวลาที่นอนโรงพยาบาล เป็นต้น ส่วนการที่จะเลือกทำการผ่าตัดเป็นทั้งกลีบหรือน้อยกว่าทั้งกลีบนั้น ขึ้นอยู่กับขนาดและลักษณะของมะเร็ง การทำงานทางปอดของผู้ป่วย อายุ เป็นต้น โดยจะต้องพิจารณาเป็นกรณีไป

การผ่าตัดแบบเปิดช่องอก (Thoracotomy)

มักใช้ในกลุ่มที่ก้อนมะเร็งมีขนาดค่อนข้างใหญ่ เช่น มะเร็งมีขนาดมากกว่า8 เซนติเมตร หรือ ต้องผ่าตัดซับซ้อนเช่น ตัดต่อหลอดเลือด หรือ ในกลุ่มผู้ป่วยที่เคยได้รับการฉายแสงมากก่อน

การรักษาตามระยะของมะเร็งปอด

การรักษามะเร็งปอดนั้นมี 3 วิธีการหลัก ๆ กล่าวคือ ผ่าตัด เคมีบำบัด และ ฉายแสง โดยขึ้นอยู่กับระยะของโรคเมื่อตรวจพบ ซึ่ง แบ่งเป็นระยะได้ดังนี้

  • ระยะที่ 1(มะเร็งก้อนเล็กกว่า 3 เซนติเมตรและอยู่ในเนื้อปอดเท่านั้น) : ในคนไข้กลุ่มนี้เราสามารถรักษาโดยผ่าตัดได้เพียงอย่างเดียวโดยไม่ต้องรับเคมีบำบัดและฉายแสง โดยเฉพาะหากตรวจพบในระยะ 1a (ก้อนเล็กกว่า 1 เซนติเมตร) หลังผ่าตัดผู้ป่วยจะมีโอกาสรอดชีวิตเกิน 5 ปีหรือหายขาดได้สูงถึง 92%
  • ระยะที่ 2(มะเร็งก้อนใหญ่กว่า 3 เซนติเมตร หรือ แพร่ไปที่ต่อมน้ำเหลืองในเนื้อปอดแต่ยังไม่ผ่านขั้วปอด) : ในคนไข้กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่รักษาโดยการผ่าตัดเป็นหลัก และอาจจะต้องได้รับเคมีบำบัดร่วม
  • ระยะที่ 3(มะเร็งลุกลามไปอวัยวะอื่นในช่องอกหรือแพร่ผ่านต่อมน้ำเหลืองขั้วปอด) : ในคนไข้กลุ่มนี้การรักษาจะมุ่งเน้นไปที่เคมีบำบัดหรือภูมิคุ้มกันบำบัดเป็นหลัก อาจมีข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดร่วมเป็นกรณีไป
  • ระยะที่ 4(มะเร็งกระจายไปอวัยวะอื่นหรือมีน้ำในช่องอกจากเชื้อมะเร็ง) : ในคนไข้กลุ่มนี้จะได้รับการรักษาโดยเคมีบำบัดหรือภูมิคุ้มกันบำบัดเพื่อบรรเทาอาการ การผ่าตัดอาจมีส่วนร่วมเป็นกรณี แต่ค่อนข้างน้อยลง